จิตแพทย์แนะ "12 วิธีเลี้ยงลูก" โตไปไม่ทำร้ายใคร-เคารพสิทธิของคนอื่น
คอมเมนต์:
จิตแพทย์เพจดัง แนะวิธีเลี้ยงลูกอย่างไรให้เคารพสิทธิไม่ไปทำร้ายผู้อื่น หลังเกิดเหตุสุดสะเทือนใจ กลุ่มโจ๋งานบวชในวัดสิงห์บุกทำร้ายครูนักเรียนสุดโหดขณะสอบ GatPat ปี 2562 หลังไม่พอใจที่ทางโรงเรียนสั่งขอให้ลดใช้เสียงในงานบวชเพราะทางโรงเรียนมีนักเรียนสอบอยู่
เกิดเป็นกระแสวิพากษ์ กับพฤติกรรมสุดอุกอาจ ของกลุ่มโจ๋กลุ่มหนึ่งที่เดินทางมาร่วมงานบวชที่วัดสิงห์ ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ทั้งนี้พวกเขาเกิดอาการไม่พอใจ ยกพวกเข้ามารุมทำร้ายนักเรียนที่กำลังสอบ GAT-PAT ประจำปี2562 อยู่ โดยสาเหตุที่กลุ่มโจ๋นี้ไม่พอใจ เพราะถูกทางโรงเรียนขอร้องให้ลดใช้เสียงในการแห่นาค โดยพวกเขาเข้าทำร้าย ครู รปภ. และนักเรียนที่กำลังทำการสอบ จนมีอาการบาดเจ็บหนัก
ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ชาวโซเชียลร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้เป็นจำนวนมาก ร่วมวิพากษ์พร้อมทั้งจี้เอาผิด และขอให้หน่อยงานร่วมเยียวยาน้องๆ นักเรียนที่สอบ gatpat ด้วย ทั้งนี้ เพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา ซึ่งมี พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจ ได้โพสต์ข้อความถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระบุข้อความดังนี้
#เลี้ยงลูกไม่ให้โตขึ้นไปทำร้ายใครและรู้จักเคารพสิทธิของคนอื่น
เมื่อวานนี้มีข่าวที่เกิดขึ้นในโรงเรียนที่มีการสอบ PAT แห่งหนึ่ง ข่าวที่ออกมาค่อนข้างรุนแรงและสะเทือนจิตใจทุกคนที่รับรู้
เรื่องของการทำร้ายคนที่อ่อนแอหรือไม่มีทางสู้ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นข่าวการฆ่าแกงกัน ข่มขืน ทารุณกรรม ฯลฯ โดยเฉพาะจากข่าวนี้คือเรื่อง ค่านิยมที่ผิดของคนไทยบางกลุ่ม คือเวลามีงานวัด งานบุญ งานสงกรานต์ สามารถทำเสียงดังได้ ยิ่งดังยิ่งสนุก และคนที่ทนเสียงดังไม่ได้กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว
ส่วนตัวหมอคิดว่าสิ่งที่สำคัญมาก คือ การทำอย่างไรให้เด็กคนหนึ่งโตขึ้นไปไม่ทำร้ายใคร รู้จักที่จะเคารพสิทธิของคนอื่น ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ทำร้ายใคร เห็นใจและคิดถึงใจเขาใจเรา ซึ่งเป็นแก้ที่ต้นเหตุ
แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความพยายาม เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เวลาและแรงใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงเราทุกคนที่มีหน้าที่ดูแลเด็ก
Sponsored Ad
ภาพประกอบเนื้อหา
1. เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กเห็น
ความเสี่ยงหนึ่งของเด็กที่กลายเป็นอาชญากรทำร้ายคนอื่น ก็คือ เห็นแบบอย่างในเรื่องผิดๆบ่อยๆ เช่น เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอาชญากรรม หมอเคยคุยกับเด็กที่มาด้วยเรื่องลักขโมย วิ่งราวทรัพย์ เมื่อซักประวัติไป ก็พบว่าเด็กเติบโตมาในบ้านที่พ่อแม่ก็เป็นคนที่ชอบลักเล็กขโมยน้อย ฉ้อโกงคนอื่นมีคำพูดที่บอกว่า “ตัวอย่างที่ดีสำคัญกว่าคำพูดที่พร่ำสอน” เมื่อเด็กเห็นสิ่งไม่ดีมาตั้งแต่เด็ก ก็มีแนวโน้มที่จะมองว่าเรื่องไม่ดีเป็นเรื่องปกติที่คนทำกัน
2. ผู้ปกครองมีเวลาให้เด็ก มีความใกล้ชิดผูกพัน ให้ความอบอุ่น
การมีเวลาและความใกล้ชิด ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันดี เด็กรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ไว้วางใจผู้ปกครอง รู้ว่ามีใครสักคนที่เขาจะไว้วางใจได้ มีใครที่เข้าใจและเห็นใจเขา จะเป็นพื้นฐานทางจิตใจที่จะนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น เริ่มจากเห็นใจพ่อแม่ผู้ปกครองใกล้ชิด เพราะไม่อยากให้พ่อแม่เป็นทุกข์หรือเสียใจ และตรงนี้จะกลายเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆต่อไป
3. รักลูกให้ถูกทาง อย่าตามใจเกินไป
พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่ความรักแบบมีสติเป็นเรื่องจำเป็น บางคนรักลูกมาก ตามใจทุกอย่าง อยากให้อะไรก็ให้ ลูกก็จะกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่สนใจถ้าทำในเรื่องที่คนอื่นเดือดร้อน
4. สอนให้เด็กมีความรับผิดชอบและควบคุมตัวเอง
เด็กๆจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ต้องรู้จักที่จะควบคุมตัวเองได้ รู้ว่าอะไรควรไม่ควรทำ มีระเบียบวินัย รับผิดชอบ ถ้าพ่อแม่ไม่สอน เด็กๆก็จะไม่รู้
5. ให้รู้จักว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ
พ่อแม่ควรจะใจดี ใจเย็น แต่ไม่ควรใจอ่อนเกินไป เวลาที่บอกเด็กว่าอะไรที่ต้องทำ หรือห้ามทำอะไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น อย่างไรก็ตามก็ต้องเข้าใจความต้องการ ความรู้สึกว่าเด็กคงไม่ชอบที่พ่อแม่ขัดใจ แต่ก็ต้องยืนยันไปตามที่ตกลงกัน เขาจะรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ
6. จับที่ถูกและชมเชย
เมื่อเห็นว่าเด็กทำอะไรที่ดี ก็ต้องรีบชมเชย เป็นกำลังใจและสร้างแรงจูงใจที่ให้เขาทำดีต่อไป
Sponsored Ad
ภาพประกอบเนื้อหา
7. เอาใจลูกมาใส่ใจเรา
เด็กจะรู้สึกดีถ้าพ่อแม่เห็นอกเห็นใจ รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของเขา ในสถานการณ์ความขัดแย้งกัน การแสดงออกว่าพ่อแม่เข้าใจว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร จะทำให้คุยกันเข้าใจขึ้น และเมื่อลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ก็เข้าใจและเห็นใจเขา เขาก็จะมีความเข้าใจและเห็นใจคนรอบข้างต่อไป
8. สอนให้ลูกรู้จักจัดการกับความโกรธ
อารมณ์โกรธเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ที่สำคัญกว่าคือ การจัดการความโกรธนั้นของตัวเอง เช่น โกรธได้เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การจัดการความโกรธอย่างเหมาะสมสำคัญกว่า ไม่ใช่ว่าโกรธแล้วจะต้องทำร้ายทำลายคนอื่น พ่อแม่ก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง ว่าโกรธได้ แต่สามารถจัดการได้ เช่น โกรธก็ไปหาอะไรทำ ปรึกษาคนที่ไว้ใจ ไปออกกำลังกาย เป็นต้น
9. สอนให้ลูกคิดอะไรไกลๆ มีเป้าหมายในชีวิต
หลายๆครั้งเด็กที่ทำผิดรุนแรง เป็นเพราะตามเพื่อน หรือ คิดอะไรง่ายๆ สั้นๆ ถ้าเด็กมีเป้าหมายว่าอนาคตอยากทำอะไร เป็นอะไร เด็กก็จะมีแนวโน้มดูแลตัวเองเพื่อไปสู้เป้าหมายนั้นได้ ลองพูดคุยถึงความฝันความหวังของเด็กเมื่อมีโอกาส
10. ปลูกฝังทักษะการกล้าที่จะปฏิเสธในเรื่องไม่ถูกต้อง
เด็กๆส่วนหนึ่งที่ทำผิด เกิดเพราะการกดดันจากกลุ่มเพื่อน ว่าถ้ารักเพื่อนต้องทำตามๆกัน ต้องช่วยกัน แม้ว่าบางครั้งจะเป็นเรื่องที่ผิด เช่น ชวนไปเสพยา ไปทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ควรปลูกฝังเรื่องความหนักแน่น กล้าที่จะปฏิเสธในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
11. รู้จักเพื่อนของลูก
ลองชวนเพื่อนลูกมาเที่ยวบ้าน ทำอาหารให้กิน พูดคุยกัน พ่อแม่จะได้รู้เขารู้เรา ว่าเพื่อนๆที่ลูกคบอยู่เป็นคนแบบไหนยังไงบ้าง
12. อย่าทำโทษลูกด้วยวิธีรุนแรง
เวลาลูกทำผิด บอกเขาว่าอะไรที่ไม่ควรทำ และเพราะอะไร หลีกเลี่ยงการทำโทษรุนแรง เช่น การใช้คำพูดรุนแรง การตีรุนแรง หรือการทำร้ายร่างกาย การถูกกระทำรุนแรงบ่อยๆโดยเฉพาะจากพ่อแม่ จะทำให้ลูกเกิดบาดแผลทางใจ และซึมซับพฤติกรรมรุนแรง และอาจจะกลายเป็นคนรุนแรงที่ไม่เห็นอกเห็นใจใคร
ถ้าใครคิดว่ายาวเกินไป ขอบอกว่าอย่างน้อยๆ 2 ข้อแรกเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก อย่างน้อยขอให้ทำให้ได้ และต้องทำตั้งแต่เด็กยังเล็ก จะมาเริ่มตอนโตบางครั้งก็ไม่ทันเสียแล้ว
เรียบเรียงข้อมูลโดย CH7 Social News
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เฟซบุ๊ก : เข็นเด็กขึ้นภูเขา